
ช่วงต้นปี 2025 หลายคนเชื่อว่า “เงินเฟ้อ” ในสหรัฐฯ กำลังเย็นลง หลังตัวเลข CPI เดือนมีนาคมแตะระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน
แต่พอเข้าสู่เดือนเมษายน สัญญาณหลายอย่างเริ่มเปลี่ยน โดยเฉพาะเมื่อเสียงฝีเท้าของ “นโยบายภาษี” จากฝั่งรัฐบาลทรัมป์เริ่มดังขึ้นเรื่อย ๆ
ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ขยับขึ้นมาที่ 0.3% เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่เพียง 0.1%
แม้ดูเหมือนจะเป็นการเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่สิ่งที่หลายฝ่ายให้ความสำคัญไม่ใช่ตัวเลขล้วน ๆ …แต่คือ “ทิศทาง” ที่กำลังจะเปลี่ยนไป
เบื้องหลังของการขยับครั้งนี้คือสิ่งที่กำลังค่อย ๆ สะสมในระบบ
ต้นทุนจากภาษีนำเข้าที่บริษัทต่าง ๆ แทบทุกกลุ่มเริ่มทยอยรับรู้ และกำลังตัดสินใจว่า จะผลักไปให้ผู้บริโภคดีไหม?
บางบริษัทเริ่มปรับราคาขึ้นแล้วโดยไม่รอให้ครบไตรมาส บางรายเลือกที่จะ “ดูเชิง” เพราะกังวลว่าผู้บริโภคจะหันไปประหยัดมากขึ้น หากราคาสินค้าทะยานเกินความคาดหมาย
ในแง่พฤติกรรมผู้บริโภค มีข้อมูลว่าความเชื่อมั่นกำลังแผ่วลงต่อเนื่อง
โดยเฉพาะจากความกังวลด้านราคาสินค้าและตลาดแรงงาน ยอดค้าปลีกเดือนเมษายนก็คาดว่าจะทรงตัว ต่างจากไตรมาสแรกที่โตแรงเพราะความต้องการรถยนต์ยังสูง
ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed เอง ก็เริ่มใช้โทนคำพูดระมัดระวังมากขึ้น
โดยระบุว่านโยบายการค้าของรัฐบาล โดยเฉพาะภาษี อาจทำให้ “โจทย์เงินเฟ้อ” ที่กำลังคลี่คลาย กลับมาซับซ้อนกว่าเดิม ทั้งยังเสี่ยงกระทบตลาดแรงงานในเวลาเดียวกัน
จึงไม่แปลกที่ตอนนี้ นักลงทุน สื่อ และนักเศรษฐศาสตร์ ต่างจับตาข้อมูลเงินเฟ้อและยอดค้าปลีกที่จะประกาศในรอบนี้
เพราะนั่นจะส่งผลโดยตรงต่อการตัดสินใจของ Fed ในการประชุมรอบถัดไป
บางคนมองว่าแม้ภาษีจะเริ่มส่งผลแล้ว แต่แรงซื้อที่ชะลอตัวจากฝั่งผู้บริโภคอาจทำให้ “การผลักราคาขึ้น” ทำได้ยากขึ้นเช่นกัน และอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เงินเฟ้อรอบนี้ “ไม่รุนแรงเท่าที่คิด”
